ความรู้เรื่องคำประพันธ์

เทคนิคและวิธีแต่งคำประพันธ์

09/02/2021

สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินจะมาสอนวิธีแต่งคำประพันธ์ หรือที่คำเรียกกันง่ายๆว่าวิธีแต่งกลอน กลอนนี่ถือเป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งจากคำประพันธ์ทั้งหมด จริงๆแล้วคำประพันธ์ยังมีอีกมากมายหลายประเภททั้ง โคลง กลอน กาพย์ ร่าย ฉันท์ และแต่ละประเภทก็ยังมีย่อยลงไปอีก เช่นในกาพย์ก็ยังมีกาพย์ยานี11 กาพย์ฉบัง16 กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์เห่เรือเป็นต้น ซึ่งมีมากมายเลย แต่เราจะไม่เจาะลึกในเรื่องนี้กัน มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า วันนี้แอดมินจะสอนสิ่งที่ควรรู้ในการแต่งคำประพันธ์ ที่สามารถใช้ได้กับคำประพันธ์ทุกประเภทเลย

1 . ฉันทลักษณ์ สิ่งที่เราควรรู้อย่างแรกเลยคือฉันทลักษณ์ ฉันทลักษณ์คือข้อบังคับที่กำหนดไว้สำหรับการแต่งคำประพันธ์ประเภทนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่บอกเราว่าต้องมีกี่วรรค วรรคละกี่คำ คำไหนบางที่ต้องสัมผัสกัน นี่แหละคือฉันทลักษณ์ แต่ละคำประพันธ์ก็จะมีฉันทลักษณ์ที่ต่างกันออกไป ก่อนที่เราจะแต่งคำประพันธ์สักเรื่องนึง เราก็ต้องรู้แล้วว่าเราจะแต่งประเภทไหน สมมติจะแต่งกลอนแปด ก็ไปศึกษาดูฉันทลักษณ์กลอนแปดก่อน

2. วางโครงเรื่อง ต่อมาหลังจากที่เรารู้ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ที่จะแต่งแล้ว เราก็มาวางโครงเรื่องกัน ความจริงแล้วหัวข้อนี้ บางคนอาจจะไม่ทำก็ได้ อาจจะเริ่มลงมือแต่งเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นหัวข้อนี้แอดมินขอเรียกว่ามัน “เทคนิคเฉพาะตัว” ของแอดมิน แอดมินได้เรียนมาจากคุณครูท่านหนึ่งที่เคยสอนแอดมินแต่งกลอนเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งมันมีประโยชน์มากๆ และแอดมินก็ใช้มาตลอด

วิธีวางโครงเรื่อง ก็คือ ให้เราเขียนไว้คร่าวๆ โดยแบ่งเป็น คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป เหมือนกับเวลาเขียนเรียงความ โดยให้เราคิดว่าแต่ละส่วนจะพูดถึงอะไรบ้าง แอดมินจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบนี้ สมมติว่าเราจะแต่งกลอนแปดเรื่องวันแม่ ก็อาจจะกำหนดว่า

คำนำ – เกริ่นว่าแม่คือใคร เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา

เนื้อเรื่อง – รายละเอียดว่าแม่เลี้ยงเรามายังไง เช่น ตั้งแต่เด็กก็ให้นม ดูแลอย่างดีอดหลับอดนอน ส่งเราเรียนหนังสือ สอนการบ้าน สั่งสอนเรื่องต่างๆ แม่ต้องเหนื่อยมามากมายเพราะแม่รักเรา

สรุป – ขอบคุณแม่ บอกรักแม่

จบ นี่คือตัวอย่างการวางโครงเรื่องของแอดมิน ประเด็นคือ เราต้องคิดว่าจะพูดเกี่ยวกับอะไรบ้างในเนื้อหาสามส่วนนี้ แล้วพอวางโครงเรื่องเสร็จเราค่อยเริ่มแต่งเนื้อหา โดยเปลี่ยนโครงเรื่องที่วางไว้นี่ละเป็นภาษากลอนให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ค่อยๆแปลงเนื้อหาเป็นกลอนตามกรอบโครงเรื่องที่วางไว้ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะให้คำนำเนื้อเรื่องสรุปยาวแค่ไหนก็ได้ตามใจเราเลย กะๆดู แต่ส่วนเนื้อเรื่องควรเป็นส่วนที่ยาวที่สุด ประโยชน์ของการวางโครงเรื่องไว้ก่อนแบบนี้จะทำให้เวลาที่กำลังแต่งกลอน เราจะไม่รู้สึกเคว้งคว้างเหมือนอยู่กลางทะเล แบบว่า จะขึ้นว่าไงดีนะ จะพูดเรื่องอะไรต่อดีนะ แล้วเนื้อหาของกลอนเราจะเรียงลำดับไปเป็นเรื่องราวสวยงาม ไม่วกวนซ้ำซากเหมือนคนพูดอยู่เรื่องเดียว และไม่ออกทะเลด้วย

  1. สัมผัสสระ คือ คำที่มีเสียงสระเดียวกัน หรือมีตัวสะกดมาตราเดียวกัน

เช่น ยา สัมผัสสระกับ กา ขา สา มา ลา ปา

กัน สัมผัสสระกับ ขัน ขันธ์ ทัน ทัณฑ์ สัน ยัน พันธุ์ เป็นต้น

  1. สัมผัสอักษร คือ คำที่ใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน จะเป็นตัวเดียวกันเป๊ะหรือเสียงเดียวกันก็ได้

เช่น บัง สัมผัสอักษรกับ บท บาด เบียด

ทัน สัมผัสอักษรกับ ทัณฑ์ ธรรพ์ ทุ่ม เท ทิ้ง ทอน ทร เป็นต่อ

  1. สัมผัสนอก คือ สัมผัสระหว่างวรรค เป็นสัมผัสบังคับที่บังคับว่าต้องมี และต้องนำสัมผัสสระมาใช้เท่านั้น จะใช้สัมผัสอักษรไม่ได้เลย สัมผัสนอกจะถูกกำหนดไว้ในฉันทลักษณ์ เช่นในกาพย์ยานี11 คำสุดท้ายของวรรคที่1 สัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่2 ดังนั้นสัมผัสนอกคือสิ่งสำคัญที่เราต้องยึดถือในการแต่งกลอน จะละเลยไม่ได้

  2. สัมผัสใน คือ สัมผัสภายในวรรคที่ไม่ได้บังคับว่าต้องมี เป็นเพียงคำคล้องจองภายในวรรค จะมีหรือไม่ก็ได้ ไม่ถือว่าผิดฉันทลักษณ์ แต่ถ้ามีจะช่วยเพิ่มความไพเราะได้มาก และอีกอย่างคือ สัมผัสในจะใช้สัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรก็ได้

7. คำไวพจน์ อันนี้แอดมินขอเรียกมันว่า”เทคนิคเฉพาะตัว”อีกตามเคย คำไวพจน์ก็คือคำพ้องความหมาย เรียกให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือคำที่ความหมายเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน เช่นคำว่า นก ก็มีคำไวพจน์อีกมากมายเช่น ปักษา วิหค สกุณา สกุณี คำมันจะดูโบราณๆ แค่คำแบบนี้ถ้าเราเอามาใส่ในคำประพันธ์ได้ มันจะทำให้กลอนของเราไพเราะงดงามอลังการงานสร้างขึ้นเยอะเลยค่ะ และอีกสิ่งที่สำคัญมากของคำไวพจน์ก็คือ เวลาที่เราคิดกลอนต่อไม่ออก ติด มึนตึบ หาคำที่ลงสัมผัสกันไม่ได้ เช่นเราต้องการใช้คำว่าพระอาทิตย์ จะต้องสื่อว่าพระอาทิตย์ให้ได้ แค่คำก่อนหน้ามันไม่ใช่สัมผัส อิด เราก็ใช้คำว่าอาทิตย์ไม่ได้ถูกไหมคะ ก็ให้เราหาคำไวพจน์ของคำที่เราต้องการใช้แทน ในที่นี้ก็หาคำไวพจน์ของคำว่าพระอาทิตย์ เราก็จะเจอ ตะวัน สุริยัน สุริยา อะไรก็ว่าไป เราก็ลองเลือกดู หาคำที่สัมผัสสระมันตรงกับที่เราต้องการมาใช้แทน แค่นี้เราก็ไม่เสียความตั้งใจที่จะใช้คำว่าพระอาทิตย์แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นคำไวพจน์คือเทคนิคที่ดีในการหาคำ เลี่ยงคำในการแต่งกลอน สำหรับวิธีการค้นหาคำไวพจน์ ก็พิมพ์ไปในGoogleว่า คำไวพจน์ของคำว่า….(เติมคำที่ต้องการ) แค่นี้ก็จะเจอมากมายหลายเว็บเลยค่ะ

นอกจากนี้ ในคำประพันธ์บางประเภทอาจจะมีกำหนดเสียงวรรณยุกต์ไว้ เช่นบังคับว่าพยางค์ไหนต้องใช้เสียงเอกเสียงโท หรือห้ามใช้เสียงสามัญ หรือให้ใช้ครุ ลหุ ทุกคนก็ต้องดูให้ดีๆ โดยศึกษาจากฉันทลักษณ์เจาะลึกเป็นแต่ละประเภทไปนะคะ แต่สำหรับสิ่งที่ควรรู้และเทคนิคบางอย่างทั่วๆไปที่ใช้ได้กับคำประพันธ์ทุกประเภท เท่าที่แอดมินพอจะมีความรู้ แอดมินก็บอกไปหมดแล้ว หวังว่าทุกคนจะนำไปปรับใช้ แล้วแต่งคำประพันธ์เป็นกันทุกคนนะ